Saturday, September 25, 2010

ลาวกับอินเทอร์เน็ต

เมื่อปลายปีที่แล้วผมโชคดีที่มีโอกาสได้เดินทางไปสำรวจตลาดที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา นั่นก็คือประเทศลาวครับ โดยจุดมุ่งหมายก็คือการไปดูว่าสภาพตลาดมีความพร้อมและมีความต้องการเพียงพอสำหรับธุรกิจออนไลน์หรือเปล่า การเดินทาง 3 วัน 2 คืนของผมเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างดีและได้เห็นอะไรที่น่าสนใจหลายๆอย่างครับ

ผมเดินทางช่วงสิ้นเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะมีกีฬาซีเกมส์เพียงไม่นานนัก เป้าหมายหลักคือการไปดู Infrastructure ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเทอร์เน็ต ช่องทางการจัดจำหน่าย ช่องทางประชาสัมพันธ์ ระบบการชำระเงิน หรือแม้แต่ระบบขนส่ง นอกจากนั้นเราต้องทำการสำรวจตามร้านอินเทอร์เน็ตเพื่อดูว่าลักษณะ lifestyle ของวัยรุ่นที่โน่นเป็นอย่างไรบ้าง วันแรกที่ผมและหัวหน้าไปถึงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว เราก็เริ่มตระเวณทันที สิ่งแรกที่เราค้นพบก็คือ เมืองหลวงของประเทศมีขนาดเล็กมาก สภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับต่างจังหวัดของไทย ไม่มีตึกสูงๆ ไม่มีระบบการคมนาคมที่ซับซ้อน และการดำเนินชีวิตค่อนข้างเรียบง่าย ถ้าจะใช้เวลาตระเวณให้ทั่วจริงๆจากการประเมินด้วยสายตาครั้งแรกที่เห็นก็คาดว่าใช้ไม่เกิน 2 วันน่าจะทั่วเมือง

เราเริ่มภารกิจจากการไปเยี่ยมร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทันที จากการพูดคุยกับเจ้าของร้านจึงได้รู้ว่าค่าบริการอินเทอร์เน็ตในลาวแพงมาก ในขณะที่ทุกวันนี้ชาวไทยสามารถเล่นเน็ตที่ความเร็ว 6 Mbps ในราคาเพียงห้าร้อยกว่าบาท หรือหลักพันต้นๆสำหรับร้านเน็ต สิ่งที่ร้านเน็ตในลาวต้องเผชิญคือราคาร่วมหมื่นบาทสำหรับความเร็ว 1 Mbps โดยเมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่ร้านเก็บจากลูกค้าแล้วพบว่าไม่ได้แตกต่างจากบ้านเรามากนัก คำถามจึงเกิดขึ้นในหัวผมทันทีว่า แล้วเขาจะคุ้มทุนกันยังไง?

เมื่อเราได้ทยอยเดินเข้าร้านนั้นออกร้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆก็ยิ่งได้พบว่าร้านต่างๆเหล่านี้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ผู้ให้บริการหลักในเวียงจันทน์มี 3 เจ้าได้แก่ Lao Telecom ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Shin Corporation จากบ้านเรานี่เอง โดยมีรัฐบาลลาวถือหุ้นอยู่ครึ่งหนึ่ง (ได้รู้ในภายหลังว่ารัฐบาลถือหุ้นครึ่งหนึ่งในทุก operator) เจ้าที่สองก็คือ ETL และเจ้าที่สามเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งถูกต่างชาติเข้ามาถือหุ้นคือ Tigo ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีสไตล์การทำการตลาดและรูปแบบราคาที่แตกต่างกัน

หลังจากที่ได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ประเด็นที่เราสนใจต่อก็คือตลาดเกมในลาว ซึ่งก็ได้พบว่ารัฐบาลลาวมีนโยบายในการควบคุมการให้บริการเกมในร้านเน็ตที่ค่อนข้างรัดกุมกว่าบ้านเรา และถึงแม้จะยังไม่มีการบังคับกฎหมายใดๆอย่างเคร่งครัด แต่ร้านต่างๆก็ได้ข้อมูลค่อนข้างตรงกันว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนและอาจจะถึงกับห้ามให้มีการเปิดให้บริการเกมในร้านโดยสิ้นเชิงเพื่อป้องกันปัญหาเด็กไม่สนใจเรียนและปัญหาสังคมอื่นๆที่อาจจะตามมา แต่ก็มีข้อยืดหยุ่นคือ ในแต่ละเมืองอาจจะอนุโลมให้มีการจัดตั้งศูนย์เกมได้ 2-3 แห่ง แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลก่อนและจะไม่สามารถมีมากกว่านี้ได้

เมื่อเริ่มเห็นทิศทางและแนวโน้มในฝั่งของตลาดแล้ว เราก็เริ่มขยับไปที่การพูดคุยกับผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย ซึ่งถือว่าโชคดีมากที่ได้เราพบระดับผู้บริหารของทั้ง 3 บริษัท ข้อมูลที่เราได้ก็น่าสนใจ เพราะพบว่าจำนวนผู้ใช้บริการเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วอยู่ในหลักแสนเท่านั้น ซึ่งนั่นรวมทั้งมือถือและอินเทอร์เน็ต! อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการกลับได้ก้าวข้ามประเทศเราไปสู่ 3G และ Wi-Max เรียบร้อยแล้ว ผมมีโอกาสได้ทดลอง Wi-Max โดยใช้ notebook ที่ผมพกติดตัวไปและต้องทึ่งเมื่อสามารถดาวน์โหลดไฟล์ขนาดร่วม 10 MB เสร็จโดยยังไม่ทันนับเวลา ผมได้สอบถามถึงจำนวนผู้ใช้และก็ได้คำตอบที่ไม่น่าแปลกใจนั่นก็คือหลักร้อยคน แต่รายต่างๆก็มองว่ามันเป็นบริการที่มีอนาคตและสิ่งที่จะมาช่วยขับเคลื่อนให้เติบโตได้ก็คือ content นั่นเอง

ผมได้สอบถามต่อว่าการตั้งราคาที่สูงขนาดนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำตลาดหรือ และก็ได้คำตอบว่าสาเหตุที่ราคาสูงก็เพราะต้นทุนการเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ หรือ international bandwidth ที่ต้องจ่ายให้กับหน่วยงานหนึ่งที่เรารู้จักกันดี นั่นก็คือ CAT ของบ้านเรานั่นเอง โดยทั้ง 3 เจ้าจะต้องวิ่งออกผ่าน CAT ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด ทำให้ operator ไม่สามารถลดราคาให้กับลูกค้าได้มากนัก แต่หากร้านใดจะใช้เพียง domestic bandwidth เพียงอย่างเดียว ราคาก็อาจจะลดได้มากกว่า 50% ทีเดียว สิ่งที่ operator พยายามหาทางออกก็เลยเป็นการเปลี่ยนไปวิ่งผ่านจีนซึ่งยังไม่เต็มรูปแบบ แต่ผมเชื่อว่าหากมีทางเลือกมากขึ้น ราคาก็น่าจะลดลงได้อย่างแน่นอน

เมื่อขยับมาถึงส่วนของการประชาสัมพันธ์ เราพบว่าสื่อโทรทัศน์และเว็บไซต์ของลาวเองไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นลาวนัก เพราะวัยรุ่นมักจะดูรายการจากช่องของไทยและเข้าไปอ่านเว็บต่างๆของไทยเช่นกัน ยิ่งเป็นนิตยสารต่างๆแล้วยิ่งเข้าไม่ถึง สื่อที่น่าจะมีประสิทธิภาพที่สุดจึงกลายเป็น SMS ไปโดยปริยาย

เมื่อเราได้ข้อมูลต่างๆเหล่านี้แล้วเราจึงเริ่มเห็นทิศทางชัดเจนมากขึ้น การจะเข้าไปทำธุรกิจออนไลน์ในลาวมีปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยหลักๆได้แก่ ข้อจำกัดด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต, การประชาสัมพันธ์ และขนาดของตลาดที่ค่อนข้างเล็ก นอกจากนั้นโครงสร้างภาษีก็แตกต่างจากบ้านเราและโดยรวมแล้วบริษัทต่างๆจะต้องเสียภาษีค่อนข้างเยอะพอสมควร ดังนั้นแผนการขยายธุรกิจจึงกลายเป็นโจทย์ให้ต้องกลับมานั่งคิดกันใหม่หมด

ผมไม่สามารถให้รายละเอียดมากกว่านี้ได้ แต่หวังว่าสิ่งที่ผมเล่ามาน่าจะช่วยให้หลายๆท่านได้เห็นภาพของเพื่อนบ้านเราได้ชัดขึ้นบ้างนะครับ หากใครมีข้อมูลหรือคำแนะนำก็แบ่งปันกันบ้างนะครับ :)

3 comments:

iamdocta said...

ผู้ให้บริการ เค้ามองเหมือนกันผู้ให้บริการบ้านเรา
แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เค้าทำได้ แต่บ้านเราทำ(ยังไงก็)ไม่ได้

ValueZen said...

เท่าที่อ่านดู มีความรู้สึกว่าไม่มีความพร้อมในหลายๆด้านจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย infrastructure และจำนวนของ user แต่การที่ตลาดลาว ไม่ efficient ขนาดนี้(แต่กลับมี 3G) ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะเริ่มอะไรเล็กๆไปก่อนก็ได้นะ ไม่รู้ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเริ่มทำตลาดเกมส์ในประเทศลาวด้วยเกมส์บนโทรศัพท์มือถือก่อน และเมื่อสิ่งต่างๆเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ค่อยขยายไปที่เกมส์คอมพิวเตอร์

Anonymous said...

-__-