Sunday, September 26, 2010

ในเกาหลีใต้ "จอ"คือ"เงิน"

ผมเองเคยเป็นคนหนึ่งที่สงสัยว่าบริษัทยักษ์ใหญ่บนโลกออนไลน์อย่าง Google ที่เป็นผู้ให้บริการ search engine ที่ทรงพลังและมีคนใช้เยอะทีสุดในโลกนั้นจริงๆแล้วเป้าหมายของบริษัทคืออะไรกันแน่ เพราะบริการใหม่ๆบางอย่างมันก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับการค้นหาสักเท่าไหร่ จนมีคนหนึ่งบอกผมว่า เป้าหมายระยะยาวของ Google ก็คือการเข้าถึงทุก"จอ"บนโลก ผมถึงได้เข้าใจว่าทำไม Google ถึงพัฒนาแต่ละบริการที่เราเห็นๆกันอยู่ทุกวันนี้

"จอ" ที่ผมพูดถึงไม่ใช่แค่จอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือ laptop แต่รวมไปถึง จอโทรศัพท์มือถือ จออุปกรณ์พกพาต่างๆ จอโทรศัพท์ หรือแม้แต่จอในรถยนต์ ตราบใดที่จอเหล่านี้สามารถต่อกับโลกอินเทอร์เน็ตได้มันจะกลายเป็น"ช่องทาง"ที่มีมูลค่าขึ้นมาทันที จากจุดนี้เองเลยทำให้ผมอยากเขียน blog เพื่อเล่าความสำคัญของ"จอ"ในอีกแง่มุมที่หลายๆคนอาจจะยังไม่ทราบ

ในธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ตในประเทศที่ก้าวหน้าอย่างเกาหลีใต้ หน้าจอ PC มีความสำคัญมากๆ หากคุณได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศบ้านเกิดแดจังกึมแห่งนี้ อยากให้ลองเข้าไปเยี่ยมร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือที่เรียกกันว่า PC Bang สักแห่งแล้วจะเห็นภาพชัดขึ้นครับ หน้าจอ PC ทุกหน้าจอมีการโฆษณาโดย brand ต่างๆอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นหน้า screen saver, หน้า log in, แถบด้านล่าง, wallpaper เหล่านี้ต่างกลายเป็นช่องทางโฆษณาที่ทำเงินได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ถ้าย้อนอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือ ธุรกิจร้านเน็ตคาเฟ่ในประเทศนี้ถือว่าเป็นระบบมากๆ นั่นหมายถึงว่าการจัดการบริหารร้านจะมีการใช้ซอฟต์แวร์สำหรับบริหารร้านโดยเฉพาะ ซึ่งซอฟท์แวร์เหล่านี้ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทมืออาชีพเพื่อเน้นตอบสนองการใช้งานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบคิดเงินในร้าน ระบบสมาชิก ระบบจำหน่ายสินค้า หรือแม้แต่การเติมเงินเข้ากับบริการออนไลน์ต่างๆ โดยซอฟท์แวร์เหล่านี้จะติดตั้งที่เครื่องของเจ้าของร้าน และสามารถที่จะควบคุมเครื่องลูกในร้านได้อย่างสมบูรณ์แบบ จากตรงนี้นี่เองจึงเกิดการพัฒนาต่อยอดมาอีกระดับ นั่นก็คือการเชื่อมต่อเครื่องของเจ้าของร้านเข้ากับเซิร์ฟเวอร์กลางของบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์นี้อีกต่อหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความสามารถในการเก็บ"สถิติ" (เน้นนะครับว่าสถิติ ไม่ใช่ข้อมูลส่วนตัว) ที่เกิดจากการใช้งานในร้านที่ติดตั้งซอฟท์แวร์เหล่านี้ นอกจากนั้นบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เหล่านี้ยังสามารถที่จะสั่งให้เครื่องต่างๆสามารถเปลี่ยน screen saver, waller, banner ฯลฯ ได้ตามต้องการอีกด้วย

ลองนึกดูเล่นๆนะครับ เอาประเทศไทยเราเป็นตัวอย่าง ประเทศเรามีร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ประมาณ 20,000 กว่าร้าน ถ้าร้านหนึ่งมีเครื่องประมาณ 15 เครื่อง เราจะได้จำนวน"จอ"ถึง 300,000 จอที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เป็น Netizen อย่างมีประสิทธิภาพทันที ถ้าเราสามารถทำการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ brand หรือ product ของเราผ่านช่องทางหน้าจอนี้ได้ เราก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนยุคใหม่ได้อย่างง่ายดายและด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างคุ้มค่าทีเดียวครับ

สิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ก็คือ ช่องทาง PC Bang กลายเป็นช่องทางที่บริษัทต่างๆให้ความสนใจอย่างมากและหันมากันงบเพื่อใช้กับช่องทางนี้ บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์บริหารจัดการร้านเหล่านี้สามารถสร้างรายได้จากการขายพื้นที่บน"จอ"ทั่วประเทศได้เป็นเงินถึงหลักพันล้านบาท นั่นยังไม่นับถึงรายได้ที่ได้จากการขาย"สถิติ"ที่เก็บได้อีกด้วย ซึ่งสถิติที่ผมว่านี้ก็คือข้อมูลเช่น ผู้ใช้ชอบเข้าเว็บไหนมากที่สุด มีสัดส่วนเป็น % เท่าไหร่, เกมไหนมีการเล่นมากที่สุด, สเปคคอมพิวเตอร์ในร้าน PC Bang โดยเฉลี่ยเป็นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความแม่นยำแม้จะไม่ 100% แต่ผมก็กล้าพูดได้ว่ามันแม่นกว่าการทำการวิจัยตลาด หรือการลงพื้นที่โดยทีมงานใดๆแน่ๆเพราะมันเก็บจากตัวเครื่องโดยตรง นั่นหมายถึงว่าการวางแผนการเข้าถึงลูกค้าที่เป็น Netizen จะมีความแม่นยำ และที่สำคัญคือ ข้อมูลเหล่านี้มันสามารถแยกเป็นเขตได้ด้วย ดังนั้นผู้ใช้ข้อมูลจะสามารถเห็นได้ถึงขนาดที่ว่าเขตใดมีพฤติกรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างไร ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักการตลาดหรือนักขายต้องการตลอดมา ดังนั้นการขายสถิติเหล่านี้จึงสามารถสร้างรายได้ให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์นี้ได้อย่างสวยงามอีกส่วนหนึ่งด้วย

ทีนี้หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าแล้วร้านเน็ตทำไมถึงจะต้องให้บริษัทเหล่านี้มาเอาข้อมูลจากร้านตัวเองไปใช้สร้างรายได้เฉยๆ นั่นเป็นเพราะว่าร้านเน็ตเหล่านี้ก็ได้ผลประโยชน์เช่นกันครับ บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์เหล่านี้เข้าใจดีว่าร้านเน็ตเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้ตนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ดังนั้นรูปแบบของการแบ่งรายได้จากโฆษณา, การทำกิจกรรมแจกของต่างๆจึงเป็นสิ่งกระตุ้นให้ร้านเน็ตอยากติดตั้งโปรแกรมในร้านของตน ตัวอย่างเช่น หากร้าน A ติดตั้งโปรแกรมในร้าน บริษัทจะดูการใช้งานและอาจจะแจกคูปองแลกจอคอมพิวเตอร์ใหม่ในราคาพิเศษมากๆ ซึ่งนั่นคือการลดต้นทุนของร้านอย่างชัดเจน หรือหากมีการใช้โปรแกรมอย่างต่อเนื่องถึงปริมาณที่กำหนดอาจจะได้เงินสดกันเลยทีเดียว ซึ่งกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ทำให้เกิด ecosystem ที่ได้ผลประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน

และนี่ก็คือตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยน"จอ"ให้เป็น"เงินนะครับ ส่วนบ้านเราก็มีความพยายามที่จะนำ model นี้มาใช้เหมือนกัน และผมเองก็เคยเป็นหนึ่งในทีมที่ดูแลเรื่องนี้ แต่ปัจจัยบ้านเรามีหลายอย่างมากๆที่ทำให้มันไม่เกิด ไว้คราวหน้าผมจะมาเล่าให้อ่านนะครับ

No comments: