Friday, August 6, 2010

Mobile Applications with Thai Government

วันนี้มีโอกาสได้ไปร่วมงานเสวนา Mobile Application ที่จัดโดย NECTEC Academy ถือว่าเป็นงานที่น่าสนใจมากๆ โดยจุดมุ่งหมายคือการแบ่งปันประสบการณ์การใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆโดยเฉพาะทางมือถือให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับทราบ เผื่อว่าจะนำไปปรับใช้กับตัวเองและองค์กรได้

มีโจทย์หนึ่งน่าสนใจมากว่า ในฐานะของผู้บริโภค เราอยากให้องค์กรของรัฐเช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯทำอะไรบ้าง... ระหว่างที่พูดก็ตอบไปว่าจริงๆผมต้องการ 2 อย่าง อย่างแรกคือการทำให้ข้อมูลที่มีประโยชน์จำนวนมากมายของกระทรวงฯมาอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการเข้าดูผ่านอุปกรณ์มือถือให้ได้ เช่น สามารถแสดงผลบน mobile browser ได้อย่างรวดเร็วและดูสวยงาม เพื่อที่คนทั่วไปที่มี smart phone สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ลดความยากลำบากและความรู้สึกว่าการเข้าถึงเป็นเรื่องยากลง อย่างที่สองก็คือ การที่องค์กรสามารถรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและสามารถตอบโต้กับผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปได้ สำหรับผมแล้ว 2 ข้อนี้เพียงพอกับการเริ่มต้นแล้ว และน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่เหมาะสม ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป

ผมเองมองว่าองค์กรของรัฐ หรือแม้แต่บริษัทเอกชนหลายๆแห่งยังให้ความสำคัญกับการรองรับการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือน้อยเกินไปทั้งๆที่เราต่างเห็นกันแล้วว่าอีกภายในไม่กี่ปี การใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับชีวิตประจำวัน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทั้งโครงข่ายและตัวอุปกรณ์มือถือทำให้ต้นทุนค่อยๆลดลง ปริมาณข้อมูลที่น่าสนใจที่หลากหลายทำให้คนหันมาใช้โทรศัพท์มือถือเข้าสู่อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ถ้าองค์กรของรัฐหรือบริษัทต่างๆหันมาให้ความสำคัญและรองรับการเข้าถึงตรงนี้มากขึั้น จะช่วยสร้างความผูกพันและการใช้งานที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นองค์กรเองจะได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับองค์กรเองด้วย

ลองนึกกันเล่นๆดีกว่า จะเป็นยังไงถ้า...
  • กระทรวงมหาดไทยพัฒนาระบบให้สามารถนับจำนวนประชากรโดยเชื่อมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ การทำสำมะโนประชากรอาจจะดีขึ้นทั้งในแง่ความรวดเร็วและแม่นยำ
  • กรมตำรวจพัฒนาเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นสำหรับมือถือที่เปิดให้ผู้คนแจ้งความได้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น เช่น การลักขโมย การปล้นจี้ อุบัติเหตุ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องโทรแจ้งอาจจะให้รายละเอียดได้ไม่ครบ ถ้าต่อไปเราสามารถถ่ายรูปแล้วอัพโหลดขึ้นระบบเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้เป็นหลักฐานได้ การดูแลความสงบและการลงโทษคนผิดอาจจะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • หน่วยงานที่มีงานวิจัยดีๆเช่น NECTEC, NSTDA มีเว็บไซต์ที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปดูงานวิจัย, รายการทางเทคโนโลยีย้อนหลัง ที่สามารถเปิดผ่านโทรศัพท์มือถือได้ เราก็อาจจะใช้เวลาว่างเพียงสั้นๆในการเปิดดูคลิปรายการ อ่านสรุปข่าว ซึ่งจะเป็นการกระจายความรู้ที่รวดเร็วและเข้าถึงได้ดีกว่าสื่อปัจจุบัน
  • กระทรวงวัฒนธรรมที่ดูแลร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ อาจจะได้รับข้อมูลร้องเรียนพร้อมหลักฐานที่รวดเร็วและสามารถรับมือการทำผิดได้อย่างตรงประเด็น
ตัวอย่างของผมอาจจะฟังดูไร้สาระ ทำไม่ได้จริง แต่ผมว่ามันก็เป็นแนวไอเดียที่สามารถเอาไปปรับปรุง ประยุกต์ ดัดแปลงเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ และประโยชน์ที่ว่ามันก็ไม่ได้เป็นของใครคนเดียว สุดท้ายมันก็กลับมาที่พวกเรานั่นเองนะครับ

1 comment:

yokekungworld said...

เห็นด้วยเลยครับชิว น่าเสียดายที่องค์กรต่างๆ กับระบบการปกครองทำให้การพัฒนาต่างๆ ช้าและติดขัดแบบนี้

ยังไงก็เอาใจช่วยนะครับ อนาคตประเทศไทย